Logo

Orange Cap Innovative

< Back to insights

5 มิติที่ต้องบาลานซ์ให้ได้สำหรับคนเริ่มทำโปรดักส์

Article

Noppon Anukunwithaya

May 30 2022

10 min read

Article

5 มิติที่ต้องบาลานซ์ให้ได้สำหรับคนเริ่มทำโปรดักส์

ทุกวันนี้มี Application ที่สามารถดาวน์โหลดใน Apple App Store เกือบ 2 ล้าน App ใน Google Play Store เกือบ 3 ล้าน App นี่ยังไม่นับรวม Digital Product ในรูปแบบของ Web Application หรือ Web Platform ต่าง ๆ ที่มีอีกนับไม่ถ้วน ถ้ามีเยอะขนาดนี้ ทำไมมันจึงไม่มี Application สำเร็จรูปให้เราได้สร้างกันได้ง่ายๆ เหมือนกับการที่มี Template ใน Wordpress บ้างล่ะ

อันที่จริงแล้ว ก็พอมี Application สำเร็จรูป หรือ No-code development platform ที่เริ่มได้รับความนิยม ออกมาให้ใช้อยู่บ้าง หรือแม้กระทั่ง Plug-in ต่างๆใน Wordpress เช่น Woo Commerce ที่ช่วยให้การทำเว็บไซต์ E-Commerce เป็นไปได้ง่ายและต้นทุนต่ำลงมาก ซึ่งในบาง Product ก็เพียงพอแล้วกับเครื่องมือประมาณนี้ แต่บาง Product ก็อาจจะต้องการอะไรที่มากไปกว่านั้น

ความซับซ้อนของการสร้าง Digital Product

ผมชอบยกตัวอย่างการสร้าง Digital Product ให้จับต้องได้ง่ายๆ โดยเทียบกับการสร้างอาคาร ที่จำเป็นต้องมีการวางรากฐานที่ต่างกันสำหรับการสร้าง อย่างบ้านน็อคดาวน์ บ้านเดี่ยว อาคาร 8 ชั้น หรืออาคารสูงระฟ้า หลักการในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรม ระบบภายในอาคาร โครงสร้างอาคารที่มีความซับซ้อนไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเราอยากสร้าง Application ที่มีการเชื่อมต่อที่ซับซ้อนมาก(คิดว่าคล้ายกับสร้างอาคารห้างสรรพสินค้า) การทำแบบสำเร็จรูป(เหมือนบ้านน็อคดาวน์) ก็อาจเริ่มไม่ตอบโจทย์

ทีนี้ มันมีมิติที่เราต้องพิจารณาอะไรบ้างเวลาเราจะพัฒนา Digital Product ขึ้นมาสักอันหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพความซับซ้อนที่ชัดเจนขึ้น

มิติทั้ง 5 ในการสร้างโปรดักส์

1.Design

เราอาจเคยได้ยินคำว่า User Experience(UX) มาบ้าง นั่นคือการออกแบบ Function ว่าใช้งานอะไรได้บ้าง จะใช้งานอย่างไร หากมีกลุ่มผู้ใช้งานหลายกลุ่ม(ขอย้ำว่าเป็นกลุ่ม ไม่ใช่จำนวนนะครับ) ก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การทำ Marketplace ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ ผู้ซื้อและผู้ขาย ก็จะเริ่มมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ทั้งในด้าน Function การใช้งาน และการ Interaction กัน ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย เพิ่มขึ้นมา เป็นต้น ในแง่นี้ ความซับซ้อนจะเป็นเหมือนเครื่องหมายบวก คือบวกเพิ่มไปเรื่อยๆ

2.Technology

แน่นอนว่าการทำ Digital Product จำเป็นต้องมี Software Engineer เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าโดยพื้นฐานที่สุดก็คือเทคโนโลยีการพัฒนาเว็บไซต์ การพัฒนา Mobile Application ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การพัฒนาง่ายขึ้นมาก เช่น การใช้เทคโนโลยี React ที่พัฒนาครั้งเดียว ได้ทั้ง iOS และ Android เป็นต้น

นอกจากนี้ก็จะเป็นส่วนของ 3rd Party Application ที่เอาเข้ามา Plugin กับระบบ เพื่อช่วยให้การพัฒนาบางโมดูลง่ายและรวดเร็วขึ้น เช่น การส่ง Transactional Email ต่างๆ

ในส่วนของ Performance ของระบบ เช่น ความเร็วในการประมวลผล ความเสถียรของระบบ ความสามารถในการรองรับ User จำนวนมาก ก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นกัน ถ้าหากในช่วงแรกของการออก Product นั้น มีการใช้งานไม่มากนัก ข้อมูลต่างๆในระบบไม่สูงมาก ก็อาจไม่ต้องกังวลมาก

นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะนำมาประกอบกับ Product ด้วย เช่น การทำ Blockchain Product ก็ดี การมีระบบ Machine Learning ก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความซับซ้อนเช่นเดียวกัน

3.Marketing (Marketer เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับระบบ)

สื่งที่มักมาคู่กันในการทำ Digital Product คือการทำ Digital Marketing ที่ต้องนำ Traffic ของผู้ใช้งานเข้ามา รวมถึงต้องวัดผลลัพธ์ได้ด้วย จึงทำให้เรื่องนี้มีความซับซ้อนนั้นมีในหลายแง่มุม ได้แก่

การเก็บข้อมูล - การทำ Digital Marketing มักใช้ข้อมูลตัวเลขในการวิเคราะห์และวัดผล ดังนั้น การติดตั้ง Analytical Tools บนระบบ จึงมีความสำคัญ และอาจต้องเลือกระบุเครื่องมือเหล่านั้นให้ชัดเจน เพื่อติดตั้งในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งมีทั้งแบบสำเร็จรูปและพัฒนาขึ้นมาเอง ตัวอย่างเครื่องมือ เช่น Google Analytics, App Flyer, Hotjars เป็นต้น

การพัฒนาเนื้อหา - โดยปกติการนำเสนอโปรโมชั่น การสื่อสารการตลาดต่างๆ การดึง Traffic จากที่ต่างๆ นอกเหนือการใช้ผ่าน Social Media แต่อย่างไรก็ตาม บาง Product จะมีส่วนนำเสนอสิ่งเหล่านี้ภายใน Application เลย ซึ่งมักจะต้องปรับและอัพเดทตามช่วงเวลา ตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมเครื่องมือให้กับเหล่า Marketer ในการสร้าง แก้ไข หรืออัพเดทได้ง่ายและรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้พัฒนาระบบมากนัก

การพัฒนาเครื่องมือการตลาด - จริงๆแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกมากที่ใช้เพื่อการตลาด โดยที่มีการ Integrate กับ Product ของเรา เช่น การทำระบบ Affiliation การพัฒนาชุด API เพื่อไปเชื่อมต่อกับช่องทางอื่นๆ

มาถึงตรงนี้ เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า การพัฒนา Digital Product นั้น ต้องการคนที่มีความเข้าใจในหลายมิติมาเป็นคนนำ เพื่อทำงานกับคนที่ทำงานในแต่ละด้านได้ง่าย

4.Operation

การพัฒนา Operation ที่เกี่ยวเนื่องกับ Digital Product นั้น นำพากลุ่ม User ใหม่เข้ามาในระบบ ซึ่งมักจะเป็นทีมภายในองค์กร เช่น กลุ่ม Customer Support, กลุ่ม Accounting, กลุ่ม Logistics เป็นต้น

ดังนั้น ระบบจึงมักมีส่วนเพิ่มที่มักเรียกว่า Back Office ที่จะคอยจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบ ยกตัวอย่างเช่น หากการใช้งานมีปัญหา ลูกค้าก็จะติดต่อหา Customer Support และการที่ทีม Customer Support จะช่วยแก้ปัญหาได้ ก็จำเป็นจะต้องเข้าดูรายละเอียดต่างๆ รวมถึงการ action ต่างๆบนระบบได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในส่วนนี้ยังสามารถใช้วิธีการโดยอ้อมอื่นๆแทนไปก่อนได้ ระบบในส่วนนี้จึงมักพัฒนาตามมาทีหลัง ซึ่งกระบวนการต่างๆก็อาจจะยังไม่ Full-Automate ในช่วงแรกๆได้

5.Business

ส่วนที่จะสร้างความปั่นป่วนที่สุดในการพัฒนาก็คือส่วนของ Business เนื่องจาก Input จากมุมของ Business เอง สามารถทั้งเพิ่มและลดความซับซ้อนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็มีความ Dynamic สูงเช่นเดียวกัน

บาง Product เป็นเพียงเครื่องมือเสริมในการทำงาน หรือประสานงานกับลูกค้า ก็จะมีความซับซ้อนน้อย กล่าวคือบริษัทเองมีธุรกิจหลัก และต้องการพัฒนาเครื่องมือมาเสริมประสบการณ์ลูกค้า เช่น ระบบสะสมแต้มการใช้งานของลูกค้า ซึ่งจะสามารถใช้กลุ่มลูกค้าเดิมในการทำ User Study ได้ และไม่มีข้อจำกัดอื่นมากนักนอกจากงบประมาณในการพัฒนา

ในขณะที่บาง Product เป็นเหมือนช่องทางรายได้ใหม่ หรือเป็นธุรกิจอีกธุรกิจหนึ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ จึงมีความซับซ้อนในเชิงของการพัฒนา ทั้งในเรื่องงบประมาณและผลตอบแทน เรื่อง Demand จากฝั่งลูกค้า การทดสอบตลาด เรื่อง Business Model เรื่องโอกาสต่างๆที่เข้ามาระหว่างการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางและความสำคัญของบาง Function ได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวที่มี Business มาเกี่ยวข้องก็ยังมีเครื่องมือหรือ Framework เข้ามาช่วยในการวางแผนอยู่บ้าง เช่น Lean Canvas, Product Roadmap เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้าง Product ที่มีข้อจำกัดหลากหลายได้

บทสรุป

จาก 5 ข้อดังกล่าวนั้น จะเป็นตัวช่วยให้เรามองเห็นว่า Web หรือ App ที่จะพัฒนาขึ้นนั้น จะใช้งบประมาณสูงหรือยากซับซ้อนแค่ไหน โดยเฉพาะหากมีข้อที่ 5 เข้ามาเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าจะต้องเตรียมพร้อมทีมงานทั้งในการหา Leader ของทีม การรวบรวมคนในฝ่ายต่างๆ การสื่อสารภายในทีม ให้ดีเลยทีเดียว

หลังจากที่เราประเมินคร่าวๆในมิติต่างๆเหล่านี้แล้ว รวบรวมทีมได้แล้ว ก็เริ่มลงมือในการวาง Product Roadmap เพื่อใช้เป็นแกนสื่อสารให้ทีมในทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี และทีมอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะได้รู้ Timeline ของตัวเองในการทำงานให้สอดคล้องกันด้วย